=

เดือนแรกในเยอรมนี...ตะวัน EP.2 นักเรียนแลกเปลี่ยน OEG26 

เดือนแรกในเยอรมนี...ตะวัน EP.2 นักเรียนแลกเปลี่ยน OEG26 
 

โรงเรียน (Schule) 

โรงเรียนที่ไปเรียนชื่อ Erich Kästner Gesamtschule ครับ เป็นโรงเรียนที่มีระดับประถมจนถึงมัธยม ปกติแล้วโรงเรียนในเยอรมนีส่วนมาก จะแยกเป็นโรงเรียนประถมและมัธยมชัดเจน ตะวันได้เข้าไปเรียนในชั้น Jahrgang 9 ซึ่งก็คือ ม.3 ของไทยครับ ยอมรับว่าวันแรกตื่นเต้นมากถึงมากที่สุด กลัวว่าจะสื่อสารกับอาจารย์ไม่ได้ กลัวไม่มีเพื่อน กลัวนั่นกลัวนี่ไปหมด

โรงเรียนในเยอรมนี ไม่มีกฎข้อบังคับใดๆ เรื่องการแต่งกาย นักเรียนสามารถทําสีผม ใส่สายเดี่ยว แต่งหน้าได้ หรือสักและเจาะตามร่างกายได้ (นักเรียนแลกเปลี่ยนทำไม่ได้นะครับ) บอกเลยว่าวันแรก รู้สึก shock มาก เพราะสิ่งที่เห็นมันคือสิ่งที่จะไม่เห็นในโรงเรียนไทย ตั้งแต่นักเรียนชายหญิงกอดกัน นักเรียนชายเล่นมวยปลํ้าต่อหน้าอาจารย์ นักเรียนหญิงแข่งกันโหนเสาไฟโรงเรียนอย่างดุเดือด เรียกได้ว่า Culture shock เลยทีเดียวครับ

แล้วหลายคนชอบคิดว่า "คนเยอรมัน" หรือ "นักเรียนเยอรมัน" 90% เป็นคนตัวสูง ผิวขาวผมบลอนด์ ทั้งในความเป็นจริงแล้ว คนเยอรมันมีหลายเชื้อชาติมาก พอเดินเข้าโถงโรงเรียนมาจะเห็นป้ายตัวใหญ่เขียนว่า "Schule ohne Rassismus" ซึ่งแปลว่า โรงเรียนปราศจากการเหยียดสีผิวและเชื้อชาติ เลยไม่ใช่เรื่องแปลกครับ ที่ตะวันไม่ได้เป็นจุดสนใจมากนักจากการเป็นคน "เอเชีย" แต่จะถูกมองเป็นจุดสนใจจากการที่ตะวันเป็น Austauschschüler หรือ นักเรียนแลกเปลี่ยนนั่นเอง

ที่ตัวเองได้ไปพบเจอมาให้เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ รุ่นถัดไปได้ฟังกัน 

 

เพื่อน (Freunde)

เพื่อนคนแรกที่เจอชื่อ Lorena ครับ เป็นคนสเปน แต่ย้ายมาอยู่เยอรมันเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เพื่อนๆ ในโรงเรียน มีตั้งแต่แอฟริกัน อินเดียน สแปนิช แล้วแต่ละคนก็มี character แตกต่างจากเพื่อนๆ ที่ไทยพอสมควร ถ้าเป็นผู้ชายก็จะโลดโผน กวนโอ้ย เพื่อนผู้หญิงก็จะเป็นสาวเร็วมาก รักสวยรักงาม
 

วันแรกๆ ที่มา เพื่อนๆ ในห้องก็เฉยๆ กัน คงเป็นเพราะเรื่องภาษาเยอรมันของตะวัน แต่พอมาตอนนี้ ย้อนกลับไปดูตัวเองวันแรกที่นั่งรถบัสไปโรงเรียน แล้วก็นึกขำขึ้นมาเลย
 

มันเคยมีวันหนึ่งที่ครูประวัติศาสตร์ให้นักเรียนนําเสนองานที่ได้ทํามาในแต่ละสัปดาห์ เราก็นึก เอาไงดีหละ งานก็ทํามานะ แต่ให้นําเสนอเป็นภาษาเยอรมันนี่คงไม่ไหว พอถึงตาเรานําเสนอ เพื่อนๆ ก็แอบยิ้มขําคิกคักกันยกใหญ่ ตะวันเลยตัดสินใจนําเสนองานใช้ทักษะภาษาอังกฤษที่ตัวเองใช้สอบเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการแลกเปลี่ยน นําเสนอจบตะวันก็กลายเป็นจุดสนใจของห้องเรียนอีกครั้ง ทําให้รู้สึกภูมิใจในตัวเองมาก มีเพื่อนๆ ที่ไม่เคยทัก เดินเข้ามาหาเรา พร้อมกับเราว่า "Your presentation was great" พร้อมยกนิ้วโป้งให้เรา หลังจากนั้นเพื่อนๆ กล้าที่จะเข้าหา กล้าคุยกับตะวันมากขึ้น ถ้าเมื่อไหร่เขาพูดภาษาเยอรมันกับเราแล้วเราไม่เข้าใจ เขาก็เต็มใจที่จะพยายามพูดภาษาอังกฤษกับเรา




กิจกรรมที่ได้ทํา (Aktivitäten)


เชื่อไหมครับว่า ถ้าตะวันไปบอกเพื่อนที่สามเสนว่า ตะวันไปทําแต้มให้กับทีมในการเล่น Hockey มา ก็คงไม่มีใครเชื่อ


มันเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้ลองจับไม้ Hockey ได้ลองเล่นอย่างงงๆ และได้ทําแต้มให้ทีมอย่างงงๆ ทั้งที่ไม่เคยเรียนมาก่อน ต้องบอกก่อนเลยว่าตะวันแทบจะไม่มีเวลาเล่นกีฬาเลยที่ไทย เพราะเป็นเด็กสายดนตรีของโรงเรียน และเป็นเหตุให้เกลียดวิชาพละศึกษามาก แต่พอมาวันนี้ รู้สึกว่าตัวเองอยู่ในจุดที่อยากลองทุกอย่าง ลองไปก่อน ทําได้หรือไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร มันทําให้ได้ประสบการณ์ที่แสนจะคุ้มค่าที่ชีวิตนี้ยังไงก็หาไม่ได้อีกแล้ว


ด้วยความที่ครอบครัวอาสาสมัครเป็นครอบครัวแอคทีฟ เลยทำให้ตะวันตัดสินใจลงชื่อเข้าคลาสเรียนแบตมินตันพิเศษ ช่วงหกโมงถึงสองทุ่ม ทุกวันจันทร์และวันศุกร์ คลาสนี้เป็นคลาสที่ทําให้ตะวันได้เจอกับเพื่อนใหม่หลายต่อหลายคนพร้อมกับได้ออกกําลังกาย บริหารสุขภาพกายและสุขภาพจิตไปในตัว 



 



แต่สิ่งที่คิดว่าน่าจะเรียกได้ว่า "คุ้มที่สุด" ของการมาแลกเปลี่ยนที่เยอรมันช่วง 1 เดือนแรกนี้ คือการได้กลับมาเล่นไวโอลินครับ ตะวันผูกพันกับเครื่องดนตรีชนิดนี้มาตั้งแต่เด็กๆ ขอคุณพ่อคุณแม่เรียนเอง จัดการซ้อมเองไรเอง จนได้เข้าเป็นสมาชิกของวงดนตรีโรงเรียนตอนประถม ได้เข้าเป็นสมาชิกของวงดนตรีคริสตจักร ได้ร่วมเล่นงานใหญ่ๆ ทั้งในและนอกโรงเรียน

 

และวันหนึ่ง มีคนพูดกับตะวันขณะที่กําลังซื้อไวโอลินตัวใหม่ว่า "เล่นมา 7 ปี เล่นได้แค่นี้เองหรอ" เป็นเหตุให้ตะวันตัดสินใจหยุดเส้นทางของตัวเองในการเล่นเครื่องดนตรีชนิดนี้ เพราะรู้สึกท้อ เล่นไปก็ไม่มีอะไรดีขึ้น ไม่มีใครพร้อมที่จะให้โอกาส
 

จนกระทั่งในคาบวิชาดนตรีของโรงเรียน อาจารย์ให้นักเรียนเลือกเครื่องดนตรีตามความถนัด ตะวันไม่มีทางเลือก ก็เลยต้องเลือกไวโอลิน ผลตอบรับที่ได้คือเพื่อนๆ และคุณครูต่างปรบมือเสียงดังให้การการเล่นของเรา ครูวิชาดนตรีเดินมาหาพร้อมบอกว่า "เธอเล่นได้ดีมากๆ ถ้าเป็นไปได้ เดี๋ยวครูจะหาครูไวโอลินตัวต่อตัวให้" วันนั้นตะวันไม่มีใครให้เปรียบเทียบ ไม่ได้รับแรงกดดันจากคนรอบข้าง มันทําให้ตะวันรู้สึกมีตัวตน รู้สึกกล้าที่จะทําสิ่งที่คิดว่ายังไงก็เป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้อีกครั้ง

 

1 เดือนผ่านไปไหวเหมือนโกหกครับ ตะวันได้กับคนเก่งๆ มากมาย ได้เดินทางเอง ซื้อตัวรถไฟเอง ขึ้นบัสเอง เดินทางโดยรถไฟรอบเมืองเองในที่ที่ปลอดภาษาไทยและ Comfort Zone ที่สําคัญที่สุด คือได้ลองทํา สิ่งที่คิดว่าชาตินี้จะไม่มีโอกาสได้ทําอีกแล้ว


 




โทรนัดวันสมัครและสอบล่วงหน้า ได้ที่
• สำนักงานกรุงเทพฯ: 02-214-6151
• สำนักงานเชียงใหม่: 053-328-117